• ปรับขนาด
    ตัวอักษร
 
ข่าวสารในเครือข่าย อปท. จังหวัดสงขลา
ทน.สงขลา : ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗
4 พฤษภาคม 2567

๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗ "วันฉัตรมงคล" (ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก เป็นวันที่ระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ และดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ทั้งนี้ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ ๕ พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย

ต่อมาในวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ หลังจากรัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคต ทางรัฐบาลโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษายกเลิกวันนี้ลง เนื่องจากวันฉัตรมงคลถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ ๔ - ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ และในปีถัดไปถือว่าวันนี้เป็นวันฉัตรมงคล ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ ๔ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้ ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึก วัดศรีชุมของพญาลิไท ว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูล เต็มตำรา แต่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ โปรดให้ข้าราชการผู้รู้ครั้งกรุงเก่า มีเจ้าพระยาเพชรพิชัยเป็นประธาน ประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ทำการสอบสวนร่วมกันตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงวัดประดู่ แล้วแต่งเรียบเรียงขึ้นไว้เป็นตำรา เรียกว่า “ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง” เป็นตำราที่เกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย

เมื่อได้แบบแผนการราชาภิเษกที่สมบูรณ์แล้ว อีกทั้งพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกครั้งหนึ่ง และแบบแผนการราชาภิเษกดังกล่าวได้รับการยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมาเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์

โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร ๙ ชั้น